พิธีรับไหว้ การเพิ่มเงินทุน
พิธีรับไหว้
ในการทำพิธีรับไหว้นั้น นิยมจัดสถานที่เพื่อให้เป็นการสะดวก ของคู่บ่าวสาว คือจัดเก้าอี้หรือเสื่อไว้ ผู้ใด จะทำพิธีรับไหว้ ก็มานั่งในสถานที่นั้นต่อหน้าคู่บ่าวสาว ครั้นทำพิธีเสร็จแล้วจึงลุกออกไป เพื่อให้ผู้อื่น เข้ามาทำพิธีรับไหว้ต่อ
การไหว้ญาติผู้ใหญ่หรือพิธีรับไหว้นั้น จะไล่เรียงไปตามลำดับอาวุโสเช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ ส่วนใหญ่พ่อแม่ของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านจะให้เกียรติโดยให้ทางฝ่ายชาย ทำพิธีรับไหว้ก่อน หรือจะไหว้ ปู่ย่าตายายญาติผู้ใหญ่ ของทั้งสองฝ่ายก่อนก็ได้ ไม่ถือเคร่งครัดนัด
การรับไหว้นั้น เมื่อพ่อแม่ของฝ่ายชายหรือหญิง ไปนั่งคู่กันในที่จัดไว้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งนั่งคู่กันอยู่ในฝั่งตรงข้าม จะกราบลงพร้อมกันที่หมอน ๑ ครั้ง แล้วส่งพานดอกไม้ธูปเทียนให้ พ่อแม่ยื่นมือไปรับ กล่าให้ศีลให้พร หรืออวยพร ให้ชีวิตคู่ของลูกทั้งสองประสบแต่ความสุขความเจริญแล้วจึงหยิบเงินรับไหว้ใส่ลงในพาน หยิบด้ายมงคล หรือด้ายสายสิญจน์เส้นเล็ก ๆ ผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวเป็นการรับขวัญ
หากเป็นพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว เช่น ปู่ย่า ตายาย ผู้ทำพิธีจะให้กราบที่หมอน ๓ ครั้ง ถ้าเป็นญาติอื่น ๆ ทั่วไปก็ให้กราบเพียงครั้งเดียว (กราบโดยไม่ต้องแบมือ)
ตามธรรมเนียมการทำพิธีรับไหว้นั้น ความจริงเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียนคลานเข้ารับไหว้ แต่อาจเป็นเพราะความไม่สะดวกของสถานที่ มุมสำหรับให้ช่างภาพตั้งกล้องถ่ายรูปไว้ดูเป็นที่ระลึก และสาเหตุอื่น ๆ ฯลฯ จึงเปลี่ยนมาเป็นทำสถานที่รับไหว้แล้วญาติผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนกันไปทำพิธีดังกล่าวแล้ว ซึ่งสะดวก และไม่ขลุกขลัก
เงินรับไหว้ทั้งหมดนั้น คู่บ่าวสาวจะเก็บไว้เป็นเงินทุน ด้วยเหตุนี้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ อาจจะรับไหว้ ด้วยสร้อย หรือแหวนทองคำ เงินสดจำนวนมาก ส่วนญาติคนอื่น ๆ อาจรับไหว้มากน้อยตามฐานะ สาระสำคัญนั้น อยู่ที่การ แสดงความคารวะ นบนอบที่เด็กพึงมีต่อผู้ใหญ่มากกว่า
การเพิ่มเงินทุน
หลังจากทำพิธีรับไหว้เสร็จ อาจมีการเพิ่มเงินทุนให้แก่คู่บ่าวสาว โดยนำพานใส่ใบเงินใบทองมาวางไว้ นำเงินรับไหว้วางทับข้างบน ต่อจากนั้นพ่อแม่ญาติพี่น้องของคู่บ่าวสาว ซึ่งมีความประสงค์จะมอบเงินเพิ่มทุน ให้แก่ลูกหลานของตน ก็จะนำเงินมาใส่เพิ่มให้มากน้อยแล้วแต่ความพอใจ ต่อจากนั้นจึงนำถั่วงา และแป้งประพรม พร้อมอวยพร

พิธีมงคลสมรส ( งานแต่งงาน ) และบทความเกี่ยวเนื่อง
- การสู่ขอในงานแต่งงานแบบไทยๆ
- พิธีการสู่ขอขั้นตอนและพิธีการ
- พิธีการสู่ขอในวรรณคดีไทย
- พิธีการสู่ขอในวรรณคดีไทย ( ต่อ )
- การแจ้งข่าวผลการสู่ขอ
- การปลูกเรือนหอ
- พิธีหมั้น
- การยกขันหมากหมั้น
- การนับสินสอดของหมั้น
- ฤกษ์ยามเกี่ยวกับการแต่งงาน
- ฤกษ์วันแต่ง
- พิธียกขันหมาก
- การจัดขันหมากเอกและขันหมากโท
- การขุดต้นกล้วย ต้นอ้อย สำหรับให้คู่บ่าวสาว ใช้ปลูกร่วมกัน
- ขนมในขบวนขันหมาก
- ผลไม้ในขบวนขันหมาก
- การเคลื่อนขบวนขันหมาก
- การจัดขบวนขันหมาก
- ของที่อยู่ในขันหมากโท
- เริ่มเคลื่อนขบวนขันหมาก
- พานรับขันหมาก
- การปิดประตูขันหมาก
- ถอดรองเท้าเรียกค่าไถ่
- การตรวจนับขันหมาก
- การไหว้ผี
- พิธีรับไหว้
- พิธีร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว
- พิธีรดน้ำสังข์ พิธีเจิม
- ความเป็นมาของหอยสังข์ที่นำมาใช้นำพิธีการแต่งงาน
- ขั้นตอนในการทำพิธีรดน้ำี์สังข์
- การกินเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรส
- พิธีปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาว
- การส่งตัวเจ้าสาวไทย
- การนอนเฝ้าหอในงานแต่งงานแบบไทย
- หลักการครองเรือนแบบไทย น่ารู้
- สรุปขั้นตอนที่สำคัญในพิธี งานแต่งงานแบบไทยๆ
- งานแต่งงาน คนไทย คนดัง ในปัจจุบัน
- ชุดแต่งงานและพิธีการ ในงานแต่งงานของเจ้าหญิงประเทศต่างๆ และคนดังทั่วโลก
แหล่งอ้างอิง: จากหนังสือ : ประเพณี พิธีมงคล วันสำคํญของไทย ของ คุณกิติ ธนิกุล